เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราจากหน้ามือไปเป็นหลังมือ เราทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้ก็น่าจะทราบกันดี เราสามารถคุยกับเพื่อนที่อยู่อีกซีกโลกได้แบบเห็นหน้าคร่าตาโดยไม่ต้องบินไปหาถึงที่ หาข้อมูลที่ต้องการได้ในชั่วพริบตาโดยไม่ต้องไปห้องสมุด และสั่งซื้อของนานาชนิดได้จากโซฟาที่บ้าน โดยไม่ต้องออกไปห้างสรรพสินค้า ตลาดสำเพ็ง หรือคลองถม
ในแทบจะทุกแพลตฟอร์มที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนมีฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวกให้เราสามารถหยิบของใส่ตระกร้าและสั่งซื้อได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จนทำให้การซื้อ-ขายของออนไลน์กลายเป็นเทรนด์และโอกาสใหม่ให้กับผู้คนมากมาย แต่ด้วยปริมาณของการสั่งซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น จึงนำไปสู่ปริมาณการขนส่งที่มากขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2022 มีการขนส่งพัสดุในสหรัฐอเมริกามากถึง 21.2 พันล้านชิ้น หรือเฉลี่ยราว 1.77 พันล้านชิ้นต่อเดือน
ส่วนถ้านับจำนวนของบริษัทแนวหน้าอย่าง ‘Amazon’ เพียงเจ้าเดียว
“มีการจัดส่งพัสดุถึง 13.1 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 152 ชิ้นต่อวินาที”
ซึ่งจากเทรนด์ความต้องการการขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพนี้ ก็มีการคาดคะเนว่าปริมาณของ ‘Same-day Delivery’จะเพิ่มขึ้นถึง 20% ในปี 2024 เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่อยากได้สินค้าถึงบ้านอย่างรวดเร็วและตรงเวลา
และการจัดส่งพัสดุที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบในมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต หรือการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นในเขตเมืองใหญ่ การเติบโตของ E-Commerce ก็ได้เพิ่มปริมาณการจัดส่งพัสดุจนทำให้เกิดการจราจรติดขัดที่นำไปสู่มลภาวะทางอากาศและเสียงอีกด้วย ซึ่งก็นำไปสู่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นโดยปริยาย
โดยในปัจจุบัน ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนมากถึง 24% ของการปล่อยก๊าซทั่วทั้งโลก แถมยังมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นไปถึง 40% ภายในปี 2050 หากไม่ได้มีมาตรการการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งก็ถือว่าเกือบครึ่งของการปล่อบคาร์บอนทั่วทั้งโลก นับว่าเป็นปริมาณที่มหาศาลเป็นอย่างมาก
แน่นอนว่าพวกเราก็คงไม่หยุดสั่งซื้อของจากออนไลน์ในวันในพรุ่งอย่างแน่นอน ในส่วนของภาครัฐก็ต้องคอยเฝ้าดูว่าจะมีมาตรการแบบไหนที่จะออกมาช่วยกำกับดูแล แล้วสำหรับภาคเอกชน ผู้ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในปรากฎการณ์นี้ ทำอย่างไรได้บ้าง?
aRoundP ขอหยิบไอเดียที่น่าสนใจจาก Amazon ในการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงและบรรเทาผลกระทบจากการขนส่งจำนวนมหาศาลนี้ในหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป ผ่านการประยุกต์ใช้ ‘ไมโครโมบิลิตี’ (Micromobility) มาเล่าให้ฟัง
‘Micromobility’ คือคำที่ใช้เรียกการเดินทางระยะสั้น ที่สามารถใช้ยานพาหนะขนาดเล็กที่ไม่ได้กินพลังงานเยอะ ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน สกู๊ตเตอร์ สเก็ตบอร์ด มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การเดินเท้า โดย Amazon ได้หยิบหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ในการขนส่งผ่านการสร้าง ‘จุดศูนย์รวมพัสดุ’ หรือ ‘ฮับ’ (Hub) ไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ของเมือง
ภายหลังจากพัสดุต่าง ๆ ถูกคัดแยกไปยังฮับต่าง ๆ แล้ว พนักงานขนส่งของ Amazon ที่ประจำการอยู่ ณ จุดย่อยต่าง ๆ ก็จะกระจายนำพัสดุต่าง ๆ ใน Hub ของตัวเองไปส่งต่ออีกทีหนึ่ง โดยจะใช้เป็นยานพาหนะแบบ Micromobility ไม่ว่าจะเป็น ‘จักรยานขนของไฟฟ้า’ (Electric Cargo Bike) หรือแม้แต่การเดินเท้าไปส่งก็มี
Electric Cargo Bike (Cr. Amazon)
แทนที่จะเป็นรถตู้ขนของตระเวนส่งตามบ้านก็เปลี่ยนเป็นการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างจักรยานไฟฟ้าหรือการเดินเท้าก็น่าจะมีส่วนช่วยให้เมืองนั้น ๆ มีการจราจรติดขัดลดน้อยลงบ้าง รวมถึงลดมลภาวะจากควันรถลงไปได้บ้าง นับเป็นการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ทางที่สะอาดกว่าเดิมได้อย่างน่าสนใจ
แม้จะเริ่มใช้อย่างจริงจังที่สหราชอาณาจักร แต่ในเมืองอื่น ๆ ในประเทศโซนยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ลิน มิวนิค และปารีส Micromobility Hubs ของ Amazon ก็เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้น
UK Mobility Hubs Location (Cr. Amazon)
แม้ว่าในตอนนี้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญและน่าสนใจจาก Amazon ในสรรค์สร้างไอเดียที่ประยุกต์วิธีต่าง ๆ ร่วมกับการขนส่งที่เป็นธุรกิจหลักของพวกเขา ต่อจากนี้เราก็อาจจะได้เห็น Micromobility Hubs แบบนี้ขยายไปกว้างไกลมากขึ้น หรือเราอาจจะได้เห็นไอเดียที่แปลกใหม่กว่าเดิมผุดขึ้นมาก็ได้
กรณีนี้ทำให้เราเห็นว่าเมื่อจุดมุ่งหมายถูกผสานเข้ากับไอเดียที่ดี มันก็เปรียบเสมือนกับสปริงบอร์ดที่จะพาเราทะยานเข้าใกล้สู่เป้าหมายมากกว่าเดิม
#aRoundP #Purpose #Sustainability #Amazon #Micromobility #MicromobilityHubs
อ้างอิง