แค่ให้ก่อน ก็ได้สุข “ราเมงอะ” แจกฟรีทุกวันเพื่ออะไร…

ถ้าพูดถึงอาหารญี่ปุ่น ราเมงคงเป็นหนึ่งในอาหารโปรดของใครหลายคน อาจจะเพราะความครบเครื่องทั้งเส้น ซุป เนื้อ ผัก ผ่านกระบวนการปรุงอย่างพิถีพิถัน จนกลายเป็นรสชาติที่กลมกล่อม ราเมงคุณภาพดีส่วนใหญ่มักมากับราคาที่หนักพอตัว ไม่ใช่ทุกคนที่จะควักกระเป๋าจ่ายค่าราเมงแพง ๆ ได้ตลอด นั่นหมายถึงราคาของราเมง 1 ชามอาจจะเป็นค่าอาหารทั้งวันของใครบางคนเลยก็ได้

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีอีกหลายคนที่ตั้งใจตามล่าหาราเมงที่ชอบเพิ่มไว้ในลิส เพื่อวันหนึ่งจะได้กลับไปกินอีก เหมือนกับคุณแอล สิทธิชัย เรืองจรุงพงศ์ ชายผู้ชื่นชอบราเมงเป็นชีวิตจิตใจ (เจ้าของร้านราเมงอะ) สมัยก่อนเปิดร้าน ทุกครั้งที่ไปญี่ปุ่น จะต้องแวะร้านราเมงเสมอ  จนสังเกตุเห็นว่าร้านราเมงรถเข็นมีรสชาติอร่อยและราคาจับต้องได้มีอยู่ทั่วญี่ปุ่น เลยเกิดไอเดียร์อยากทำให้เมืองไทยมีราเมงอร่อย ๆ คุณภาพเทียบเท่ากับที่เคยเจอ ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายเหมือนกัน เลยกลายมาเป็นร้านราเมงรถเข็นเล็ก ๆ ในลานจอดรถแถวอ่อนนุช แต่ยอดขายไม่ดีนักเลยย้ายร้านไปแถวพระราม 9 ซึ่งจุดที่ตั้งเป็นสภาพแวดล้อมเป็นบ้านคนฐานะปานกลางไปถึงยากจน

คุณแอลสารภาพว่าช่วงแรกยอดขายเท่าทุนบ้าง ขาดทุนบ้างผสมกันไป แต่มันรู้สึกสะใจเพราะคิดว่าเหมือนเป็นงานอดิเรก คนชอบต้นไม้ยังควักกระเป๋าจ่ายค่าต้นไม้ได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

ในช่วงแรกมักจะมีเด็ก ๆ ขี่จักรยานวนเวียนมาทักทายเสมอ หลายครั้งที่ดูออกว่าน้อง ๆ อยากกิน ปกติถ้าอยู่ร้านจะเรียกให้เข้ามากินได้ตลอด แต่พอตนเองไม่อยู่ น้อง ๆ ก็ไม่กล้า ถึงแม้จะบอกว่าให้เข้ามากินได้เลยก็ตาม 

เลยปิ๊งไอเดียร์จากการไปเที่ยวอเมริกาแล้วพบว่าเราสามารถจ่ายตังซื้อกาแฟให้คนถัดไปได้ เลยมองว่าน่าสนใจที่จะมาปรับใช้กับที่ร้าน เด็ก ๆ เลยกล้าที่จะเข้ามากินมากขึ้น แต่แน่นอนว่าต้องมีข้อแลกเปลี่ยน เลยให้เขียนโพสอิทแล้วแปะไว้ที่กระดานหน้าร้านแทนคำขอบคุณสำหรับอาหารในมื้อนั้น ช่วงแรก ๆ ลูกค้าก็งงว่าคืออะไรแต่พอได้ทราบเรื่องราวเลยมีคนอยากจ่ายค่าราเมงให้คนถัดไปบ้าง จนกลายมาเป็นป้ายปันอิ่ม เพียงแค่ซื้อป้ายราเมงแล้วแปะไว้ที่กระดานหน้าร้าน ใครที่ผ่านมาแล้วอยาหกินราเมงแต่งบไม่ถึง หรือกำลังลำบากก็หยิบป้ายนี้ไปให้พนักงานที่ร้านได้เลย 

ลูกค้าใหม่จะยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่ลูกค้าประจำก็จะมายืนอ่านบอร์ดและซื้อป้ายอยู่เสมอ 

ผู้รับมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ น้อง ๆ นักเรียนที่ไม่ค่อยมีกำลังทรัพย์ หรือพี่ ๆ พนักงานห้างในช่วงสิ้นเดือนก็จะแวะเวียนกันมากินราเมงที่ร้านผ่านป้ายปันอิ่ม ไม่ใช่แค่นััน ราเมงอะยังคงแจกราเมงทุกวันเหมือนเดิม 

ไอเดียร์ต่าง ๆ มาจากการท่องเที่ยวแล้วนำมาปรับใช้ ถึงแม้กำไรจะไม่ได้งอกงามนักแต่เป็นคุณค่าทางใจ ส่วนตัวคุณแอลมีความเชื่อเรื่องการให้ก่อนรับ การให้ไม่ใช่เรื่องของการทำบุญ แต่มันคือการแบ่งปันมากกว่า เป็นความประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้ามีคนมาบอกว่าให้งบหนึ่งหมื่นอยากทำบุญช่วยให้ทำราเมงแจกให้หน่อย คุณแอลจะไม่รับเลย

ไม่ว่าจะมีแฟรนไชส์เพิ่มอีกกี่สาขา ราเมงอะก็ยังหยัดยืนให้ผู้บริโภคได้กินฟรีตามที่ตั้งใจไว้ต่อไปเรื่อย ๆ และลูกค้าที่อยากแบ่งปันก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน 

ในขณะที่เรากำลังกินราเมงอยู่ แค่คิดว่าจะมีอีกคนที่ได้กินเหมือนกัน มันจะดีแค่ไหนกันนะ

สิ่งที่รวมกันออกมาเป็นแพร พิมพ์ลดา ประกอบร่างมาจากความสนใจที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน และเรื่องสิ่งแวดล้อม aRoundP คือที่ปล่อยของอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของเรา เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องดีๆ เรื่องสนุกๆ ที่จะทำให้เราทุกคนกลายเป็น Change Maker ที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ ในแบบของเราเอง