เมื่อพูดถึง ‘ของมือสอง’ คุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก?
บ้างก็อาจนึกถึงของเก่าที่ไม่ต้องการแล้ว หรือของที่ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเก่า ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำเหล่านั้น ในหลาย ๆ ครั้งก็คือความจริง แต่ก็อาจจะมีอีกหนึ่งความจำกัดความของของมือสองที่อาจไม่ถูกจดจำมากนัก ซึ่งก็คือของมือสองในฐานะ ‘ของที่เคยถูกรัก’
วันนี้ aRoundP ขอนำเสนอคำว่า ‘Pre-Loved’ อีกหนึ่งคำนิยามของมือสองที่อาจทำให้เรามองสิ่งของเหล่านั้น แตกต่างออกไป ในฐานะของที่เคยถูกรักมาก่อน และในฐานะของที่สมควรจะถูกรักต่อไป โดย Cambridge Dictionary นิยามคำจำกัดความของ ‘Pre-Loved’ หรือ ‘Preloved’ เอาไว้ว่า
“เป็นของที่ไม่ใช่ของใหม่ เคยถูกใช้มาก่อนแล้ว มักถูกใช้เอามาแทนที่คำว่าของมือสองในการขาย”
แม้ว่าโดยนิยามคำว่า ‘Pre-Loved’ เหมือนจะมาแทนที่คำว่า ‘มือสอง’ หรือ ‘Secondhand’ ในแง่ของคำที่ดูสวยหรูกว่าเวลาใช้เรียก แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจไม่ใช่ของมือสองทุกชิ้นที่ ‘ถูกรัก’ และ ‘ทะนุถนอม’ ด้วยเหตุนี้คำว่า Pre-Loved จึงเป็นคำเรียกของมือสองที่อยู่ในสภาพที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่เจ้าของได้ให้ตลอดมา
หากโลกใบนี้เราได้เห็นของที่ถูกรักเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับการที่สังคมเราใช้ของคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เสมือนเป็นการยืดอายุ (Life Extension) ให้กับของสิ่งนั้นอยู่กับผู้ใช้งานนานกว่าเดิม แทนที่จะต้องซื้อของชิ้นใหม่มาแทนที่อีกด้วย โดยมีรายงาน Resale จาก ThredUp ที่ระบุว่า การซื้อเสื้อผ้ามือสองสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ลงได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับการซื้อเสื้อผ้าใหม่ แถมช่วยยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าขึ้นอีกเฉลี่ย 2.2 ปี
ในขณะเดียวกัน การให้ความรักกับของแต่ละชิ้นก็จะเป็นการสะท้อนคุณค่าภายในให้กับของเหล่านั้นอีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น เสื้อตัวหนึ่งที่ถูกดูแลทะนุถนอมมานานหลายสิบปีจนสภาพยังสวยงามไม่ต่างไปจากเก่า จนมันได้ถูกส่งต่อไปถึงมือคนต่อไป และหากเขาเหล่านั้นได้รับรู้ถึงความรักที่เจ้าของเดิมได้ส่งต่อไปก็เหมือนเป็นการส่งไม้ต่อความรักนี้ไปสู่เจ้าของคนต่อไปอีกด้วย
ในแง่นี้ ‘Pre-Loved’ จึงเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าในของบางสิ่งที่ถูกรักโดยเจ้าของเดิม และมุ่งหวังที่จะส่งต่อสิ่งของนี้ให้ถูกรักต่อไปเรื่อย ๆ ข้อมูลจากการสำรวจในปี 2022 พบว่าประชากรชาว Gen Z กว่า 62% มีความชื่นชอบในการซื้อเสื้อผ้า Pre-Loved มากกว่าเสื้อผ้าใหม่ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าเสื้อผ้ามือสองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนถึงรสนิยมส่วนตัวและยังสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
การรณรงค์ให้เกิด Circular Economy ภายในสังคมผ่านความคุ้มค่าย่อมเป็นทางที่มีประสิทธิภาพ ที่จะขาดไปไม่ได้ในโลกทุกวันนี้ หากคุณค่าภายในของการรักษาและมุ่งส่งต่อสิ่งของเหล่านี้มันถูกส่งต่อผ่านอารมณ์และความรู้สึก แน่นอนว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ ทุกคนที่มีเนื้อหนังและจิตใจย่อมตอบสนองได้ดีและยั่งยืนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เช่น โครงการ Circular Fashion System Commitment ขององค์กร Global Fashion Agenda ที่มุ่งให้แบรนด์แฟชั่นกว่า 90 แบรนด์ทั่วโลกที่ถือเป็น 12.5% จากทั้งหมด ร่วมลงนามในพันธสัญญาเพื่อผลิตสินค้าแฟชั่นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้วัสดุที่ออกแบบมาเพื่อการหมุนเวียนและการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างแท้จริง
บนโลกที่มีของใหม่ถูกผลิตขึ้นทุกวัน ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งของอีกมากมายถูกทิ้งและหลงลืมใต้ผืนดินและบนกองขยะ มีข้อมูลจากมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ระบุว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกได้ใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนไม่ได้ถึง 98 ล้านตันต่อปี ทั้งยังมีขยะอีกหลายล้านตันที่ถูกผลิตขึ้น สวมใส่ และโยนทิ้งต่อปี การเลือกใช้สินค้าที่เป็น Pre-Loved ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะเหล่านี้ได้ แต่ยังสามารถทำให้ของที่อาจถูกลืมใต้กองขยะเหล่านี้กลับมามีชีวิตและคุณค่าอีกครั้ง การเรียกของเหล่านี้ว่า ‘Pre-Loved’ จึงเป็นการมอบความหมายใหม่ให้กับสิ่งที่เคยเป็นเพียง ‘ของเก่า’
เสมือนเป็นการเสนออีกทางเลือกหนึ่งที่ว่า แทนที่จะไขว่คว้าหาของใหม่ไปเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไรถ้าเราหันกลับมารักของเดิมที่มีอยู่ให้มากกว่าเดิม? และถ้าหากวันใดวันหนึ่งเราไม่ต้องการสิ่งนั้นอีกต่อไปแล้ว ก็ใช่ว่าความรักที่เราเคยฝังไว้กับสิ่งของเหล่านั้นจะสูญเปล่า ถ้าเราส่งต่อคุณค่าเหล่านั้นต่อ ให้สิ่งของมือสองเหล่านั้นได้มีชีวิตและได้รับความรักอีกครั้ง
บางที ‘ความรัก’ ก็อาจจะเป็นสิ่งที่พาโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนที่มากกว่าเดิมก็เป็นได้