Doughnut Economics : เศรษฐศาสตร์แบบ ‘โดนัท’ วิธีมองโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเบ่งบานไปพร้อมกัน

เศรษฐกิจและสังคมมนุษย์เราต้องเติบโตไปในลักษณะไหน ที่จะสามารถทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนทุกคนก้าวหน้าขึ้น ในขณะเดียวกับที่เคารพขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อม?

เป็นคำถามสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์หญิงชาวอังกฤษนามว่า ‘เคธ เรเวิร์ธ’ (Kate Raworth) นึกถึง เมื่อเผชิญกับโจทย์สำคัญกับการพาสังคมมนุษย์ให้เติบโตและก้าวไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็มุ่งหวังที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

เคธ เรเวิร์ธ ; ภาพ : Arbeid & Milieu

ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาก็ได้มีหลายทฤษฎีและแนวคิดที่จะมาช่วยตอบคำถามว่าหนทางใดของสังคมมนุษย์ที่จะพาให้เราเติบโตไปได้ ในขณะที่ยังมีโลกใบเดิมให้มวลมนุษยชาติได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วย

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ‘วิลเลียม นอร์เดาส์’ (William Nordhaus) คือนักเศรษฐศาสตร์คนแรก ๆ ที่หยิบภาวะโลกรวนมาพูดถึงในแง่ของการจัดสรรทรัพยากรและการพัฒนา โดยเขาก็ได้เสนอแนวทางปฏิบัติอย่างการเก็บภาษีคาร์บอนและการตั้งปริมาณการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ใจความสำคัญในข้อเสนอของนอร์เดาส์คือ ‘ความสมดุล’ (Balance) ระหว่างการต่อกรกับภาวะโลกรวนที่กำลังมาถึงกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะหากเรามุ่งที่จะลดคาร์บอนมากจนเกินไป มันก็อาจทำให้สังคมเราไม่พัฒนาไปไหน

วิลเลียม นอร์เดาส์ ; ภาพ : Bengt Nyman

หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือว่าก็ปล่อยคาร์บอนในระดับเดิมนั่นแหละ อย่าไปกังวลมาก เพื่อที่ในยุคของคนรุ่นหลัง โลกจะได้พัฒนาไปไกลจนมีเทคโนโลยีที่จะสามารถต่อกรกับภาวะโลกรวนและการปล่อยคาร์บอนได้เอง แต่ในสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ มันอาจไม่ได้ง่ายอย่างนั้่น 

ถ้าเรายึดตามข้อเสนอของนอร์เดาส์ อุณภูมิโลกจะขยับขึ้นไปกว่า 3.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ในปี 2016 ก็กำหนดว่าอุณภูมิไม่เคยขยับขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ ต้องไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และนอกจากอุณภูมิแล้วก็ยังมีหลายปัจจัยที่ย้ำเตือนกับเราว่า ถ้าหากรอไปถึงตอนนั้น เราอาจไม่เหลือโลกไว้ให้เทคโนโลยีแห่งอนาคตต่อกรกับภาวะโลกรวนแล้วก็ได้

ตัวอย่างในกรณีของนอร์เดาส์ก็ได้ชี้ให้เราเห็นถึงแนวคิดที่มุ่งเน้นแต่ ‘การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ’ (Economic Growth) เป็นที่ตั้ง แต่หารู้ไม่ว่าการเจริญเติบโตก็มีกับดักในตัวของมันเอง เพราะสิ่งที่มาพร้อมกับการเจริญเติบโตคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ผู้คนบริโภคกันมากขึ้น ผู้ผลิตก็ผลิตกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในหลาย ๆ ครั้ง การบอกว่าจะต่อกรกับภาวะโลกรวนในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

เคธ เรเวิร์ธ กล่าวบนเวที Ted Talk ในหัวข้อ ‘A healthy economy should be designed to thrive, not grow’ ว่าสังคมของเราเสพติดการเจริญเติบโตทั้งในแง่การเงิน การเมือง รวมไปถึงสังคม ที่ขับเคลื่อนให้เราบริโภคและโตไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นแผนอะไรก็ล้วนต้องมีคำว่า ‘Growth’ อยู่ตลอด และแม้ว่า GDP ของโลกจะโตกว่าในยุค 1950 ถึง 10 เท่า แต่ก็ใช่ว่าโลกนี้จะน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ล้วนชวนให้เรากลับไปตั้งคำถามว่า 

ทางที่เรากำลังเดินไปข้างหน้ามันถูกต้องแล้วใช่ไหม?

จึงเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดที่เธอมุ่งหวังให้สังคมตั้งเป้าที่ทะเยอทะยานกว่าเดิม “ตอบสนองความต้องการของทุกคนบนโลก ภายใต้ความเป็นไปได้ของดาวเคราะห์ดวงนี้” เรเวิร์ธจึงเริ่มร่างโครงสร้างของสังคมในอุดมคติที่เธอนึกถึง ในแบบที่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมสามารถเบ่งบานไปพร้อม ๆ กันได้

และมันก็ออกมาเป็นรูปทรงเหมือน ‘โดนัท’ 

เธอจึงตั้งชื่อมันว่า ‘Doughnut Economics’ หรือ ‘เศรษฐศาสตร์แบบโดนัท

นี่อาจจะเป็นโดนัทประเภทที่ดีต่อตัวพวกเราก็ได้

ภายในรูปทรงของเศรษฐศาสตร์แบบโดนัทแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ ที่ประกอบไปด้วย

  1. เพดานระบบนิเวศ (Ecological Ceiling)
  2. พื้นที่สำหรับมวลมนุษย์ (The Safe and Just Space for Humanity)
  3. พื้นฐานสังคม (Social Foundation)

Doughnut Economics ; ภาพ : Doughnut | Kate Raworth

.

ทุกคนอาจจะลองนึกภาพของโดนัทขึ้นมาก็ได้นะครับ พื้นที่วงนอกสุด ซึ่งเป็นขอบของโดนัทก็จะเป็นส่วนของ ‘เพดานระบบนิเวศ’ (Ecological Ceiling) ซึ่งจะช่วยขีดเส้นขอบเขตของสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เราไม่ควรล้ำเส้นออกไป เพราะจะตามมาด้วยผลกระทบต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางอากาศ (Air Pollution), พื้นผิวโอโซนที่ถูกทำลาย (Ozone Layer Depletion), ภาวะโลกรวน (Climate Change), น้ำทะเลเป็นกรด (Ocean Acidification) หรือมลพิษทางเคมี (Chemical Pollution) เป็นต้น 

ในส่วนของขอบในที่เป็นพื้นที่ช่องวางตรงกลางของโดนัทก็คือ ‘พื้นฐานสังคม’ (Social Foundation) หรือความต้องการพื้นฐานของคนในสังคมที่สามารถทำให้พวกเขาเติบโตได้อย่างเบ่งบาน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา (Education), สุขภาพ (Health), พลังงาน (Energy), ที่อยู่อาศัย (Housing), สันติภาพและยุติธรรม (Peace and Justice), การงานและรายได้ (Work and Income) รวมไปถึงสิทธิ์และเสียงทางการเมือง (Political Vote) เป็นต้น

และพื้นที่ในส่วนไส้ในของโดนัทก็คือความสมดุลของการเจริญเติบโตทางสังคมมนุษย์นั่นเอง ที่เคารพความเป็นอยู่ของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ไม่ให้การก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ต้องไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นปัญหาในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรากฐานทางสังคมให้ประชาชนสามารถเติบโตและเบ่งบานได้ 

เคธ เรเวิร์ธ เปรียบเทียบแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนี้เหมือนสัญลักษณ์ความสมดุลหลาย ๆ อย่างในวัฒนธรรมฝั่งตะวันออก หนึ่งในนั้นคือ ‘หยิน’ และ ‘หยาง’ เป็นการเติบโตที่ไม่ได้รักษ์โลกจนต้องจ่ายมันด้วยความเป็นอยู่ของคนธรรมดาออกไป และไม่ได้ไล่ไขว่คว้าการเจริญเติบโตจนเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการเติบโตแบบสมดุลไปข้างหน้า

ทว่าความท้าทายสำคัญในการที่จะไปถึงจุดนั้นได้อาจไม่ใช่แค่การหาจุดสมดุลที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ แต่อาจเป็นการให้ผู้คนเห็นตรงกันว่าบางที ‘สมดุล’ อาจจะเป็นเป้าหมายที่ดีและน่าสนใจกว่าการเป็น ‘ที่สุด’ ก็ได้ โดยเฉพาะในโลกยุคสมัยนี้

อย่างน้อยสิ่งนี้ก็ทำให้เราเห็นว่า ยังมีโดนัทที่ดีต่อความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์และโลกใบนี้อยู่นะ

อ้างอิง : 

Saito, Kohei (2024). Slow Down: The Degrowth Manifesto. THE ORION PUBLISHING GROUP LTD.

สิ่งที่รวมกันออกมาเป็นแพร พิมพ์ลดา ประกอบร่างมาจากความสนใจที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน และเรื่องสิ่งแวดล้อม aRoundP คือที่ปล่อยของอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของเรา เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องดีๆ เรื่องสนุกๆ ที่จะทำให้เราทุกคนกลายเป็น Change Maker ที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ ในแบบของเราเอง