‘ทิ้ง’ แบบ ‘HomePro’ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ไม่ว่าจะเป็นใครก็รับผิดชอบต่อสังคมได้ 

เราจะทำอย่างไรกับขยะที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันบนโลกของเรา?” นับว่าเป็นคำถามที่มีความสำคัญไม่แพ้ไปกว่าการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนหรือแม้แต่การอนุรักษ์ทรัพยากรที่ยังพอจะมีเหลือให้เราใช้อยู่ เมื่อกล่าวถึงหนทางในการขยับสังคมไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability)

การเผาหรือการฝังก็ถือเป็นทางเลือกง่าย ๆ ที่มนุษย์เราได้เลือกใช้ตลอดมา แต่แน่นอน แม้จะกำจัดขยะกองพะเนินออกไปได้ แต่มันไม่ตอบโจทย์ในแง่ของความยั่งยืนเลยแม้แต่น้อย เพราะนิยามหนึ่งของความยั่งยืนคือการที่เราสามารถยืนหยัดในวิธีนั้นได้อย่างสม่ำเสมอและมั่นโดยไม่ต้องแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติที่จะกลับมาคิดบัญชีเราในภายหลัง

จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘การจัดการขยะ’ (Waste Management) ถือเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาหารือและเฟ้นหาทางออกกันอย่างเข้มข้นว่าวิธีไหนกันแน่ ที่เราจะสามารถจะจัดการกับมันได้ดีที่สุด และเมื่อกล่าวถึงบริบทของยุคสมัยนี้ ‘ความสามารถในการหมุนเวียน’ (Circularity) หรือที่เราน่าจะคุ้นในชื่อที่ว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) ก็ถือเป็นเส้นทางที่ใครหลายคนก็เห็นตรงกันว่ามันเวิร์ก!

แต่เส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่าง ‘ทางออกของปัญหา’ กับ ‘อุดมคติ’ คือความสามารถที่จะนำมันไปประยุกต์ใช้ได้อย่างจริงจังและยั่งยืน โดยเฉพาะในบริบทของภาคธุรกิจ 

ในบทความนี้ aRoundP จึงอยากจะหยิบเรื่องราวของ ‘HomePro’ กับแคมเปญ ‘แลกเก่าเพื่อโลกใหม่’ มานำเสนอ ไม่เพียงในแง่ที่ว่ามันเป็นแคมเปญที่สนับสนุนความยั่งยืนในรูปแบบไหน แต่รวมถึงด้วยความเชื่อแบบใดจาก HomePro ที่หวังจะแลกของเก่าเพื่ออนาคตใหม่ของโลกใบเดิม

แน่นอนว่าใครหลายคนที่อ่านบทความนี้อยู่ก็น่าจะมีของเก่าที่วางเอาไว้อยู่ที่บ้าน บ้างก็ยังใช้งานอยู่แม้จะไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนก่อน บ้างก็เก็บเอาไว้ที่ห้องเก็บของ หรือบ้างก็นำไปทิ้งที่ไหนสักที่หรือแม้ก็ขายให้รถรับซื้อของเก่า แต่แน่นอนว่าสิ่งที่คนทั้งสามประเภทมีร่วมกันคือหนทางในการจัดการขยะเหล่านี้ในรูปแบบที่จะ ‘สร้างประโยชน์’ มากกว่าแค่ทิ้งไปเฉย ๆ

จึงบันดาลไอเดียให้กับ HomePro ไม่เพียงแค่สนับสนุนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดให้กลายเป็น ‘ผลิตภัณฑ์หมุนเวียน’ (Circular Product) ที่จะสอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืนในอนาคตขององค์กรอีกด้วย กับโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ที่เปิดให้มีการนำของเก่าภายในบ้านมาแลกซื้อสินค้าใหม่  พร้อมรับส่วนลดพิเศษกับ HomePro ไม่ว่าจะสินค้ารุ่นเดียวกันหรือข้ามรุ่น และผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่เพื่อทำการ ‘Trade-In’ นำสินค้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว แม้สภาพไม่สมบูรณ์ และไม่จำเป็นต้องซื้อจาก HomePro ก็สามารถนำมาแลกเป็นสินค้าใหม่ได้เช่นกันทั้งในออนไลน์และที่สาขา

โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาแลกในโครงการก็จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ หรือเครื่องปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนที่รองลงมาก็จะเป็นสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เครื่องกรองน้ำ เฟอร์นิเจอร์ และสุขภัณฑ์

เมื่อได้สินค้าเหล่านั้นมาแล้ว หน้าที่สำคัญของ HomePro ก็คือการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง SCGC ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการขยะและแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปสร้างประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดในทุก ๆ ชิ้นส่วนที่เป็นไปได้ 

โดยเป้าหมายหลักของ HomePro คือการมุ่งเน้นสัดส่วนให้วัสดุเหล่านั้นสามารถวนเข้าไปในลูปของหลัก Circular Economy ให้ได้ โดยเฉพาะการนำวัสดุที่เป็นพลาสติกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าไป Upcycle หรือ Recycle จนกลายเป็นส่วนประกอบ 20-30% ในวัสดุที่เป็นชิ้นสิ้นส่วนพลาสติกของสินค้าชิ้นใหม่ ส่วนสินค้าสุขภัณฑ์ที่ทำมาจากเซรามิกที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าหรือหมุนเวียนใช้ใหม่อีกครั้งที่ยากกว่าสินค้าแบบแรก ก็จะถูกนำไป Downcycle เป็นกระเบื้องในสินค้าชิ้นอื่น ๆ ต่อไป แม้จะมีการเพิ่ม หมุน หรือลดมูลค่าลงบ้าง แต่หัวใจสำคัญที่ผสานทุกอย่างเข้าด้วยกันคือ ‘Cycle’ หรือการมอบศักยภาพการหมุนเวียนให้วัสดุทุกชิ้นกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งได้

แต่ในบางกรณีที่ไม่สามารถนำไปหมุนเวียนได้ HomePro ก็จะนำไปเข้าสู่กระบวนการที่จะเปลี่ยนวัสดุเหล่านั้นให้กลายเป็นเชื้อเพลิง RDF หรือเปลี่ยนวัสดุเหล่านั้นให้กลายเป็นพลังงานที่จะสามารถสร้างประโยชน์ในอนาคตได้ต่อไป โดยไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่าและกลายเป็นขยะที่เพิ่มพูนขึ้นไปตามกาลเวลา

ทว่าคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้ไปกว่ากระบวนการที่จะนำสินค้าเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นสิ่งใหม่ในอนาคต ก็คือวิธีที่ทำให้ HomePro สามารถยืนหยัดทำสิ่งนี้ได้ ในขณะที่ตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจไปข้างหน้าด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ ‘วัสดุบริสุทธิ์’ (Virgin Material) ย่อมเป็นหนทางที่ง่ายและถูกกว่า

แต่จากมุมมองของ HomePro เมื่อพูดถึง Circular Economy คำถามอาจไม่ใช่ว่า ‘จะทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ แต่เป็น ‘วิธีการรับมือ’ (Approach) มากกว่าว่าจะหนทางไหนที่จะสามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความยั่งยืนของบริษัทและในแง่ของธุรกิจด้วย เพราะหนึ่งในเป้าหมายของ HomePro คือใน 6 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 (ในวันที่โลกทะยานข้ามเป้าหมาย Carbon Neutral และกำลังมุ่งหน้าสู่ Net Zero ในปี 2050) สัดส่วนรายได้ทั้งหมดของ HomePro ต้องมาจาก Circular Products จำนวน 20% 

แม้จะเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น ก็จึงทำให้ HomePro ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อหาโมเดลธุรกิจที่จะมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อหาผู้ร่วมในแนวทางที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เฉกเช่น SCGC มาเดินไปในทางเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการฉายภาพให้เห็นว่า

ไม่ว่าจะเป็นใครก็รับผิดชอบต่อสังคมได้

ส่วนใหญ่แล้วบทบาทหน้าที่ในการสร้างวัฏจักรหมุนเวียนของสินค้าและวัสดุต่าง ๆ ก็มักจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้ซึ่งเป็นต้นทางของวัสดุนั้น ๆ ในการคิดหาหนทางในการสร้างระบบที่ยั่งยืนเหล่านี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้นน้ำ แต่ในกรณีนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นผู้ค้าปลีก (Retailer) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ก็สามารถรับผิดชอบต่อสังคมในแบบของตัวเองได้เช่นเดียวกัน

ในภายภาคหน้า โจทย์สำคัญต่อไปของ HomePro ก็คือการขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในการเปิดรับสินค้าประเภทต่าง ๆ เข้าสู่วัฏจักร Circular Product รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีการก็คือการค้นหาพาร์ทเนอร์ผู้มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อเดินหน้าไปในทางเดียวกัน 

ทั้งยังเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่จะบอกเราว่า ใครก็สามารถรับผิดชอบต่อสังคมในแบบของตัวเองได้

#aRoundP #Purpose #Sustainability #CircularEconomy #HomeProClosedLoopCircularProduct #CircularProduct #แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ #HomePro #โฮมโปร

สิ่งที่รวมกันออกมาเป็นแพร พิมพ์ลดา ประกอบร่างมาจากความสนใจที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน และเรื่องสิ่งแวดล้อม aRoundP คือที่ปล่อยของอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของเรา เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องดีๆ เรื่องสนุกๆ ที่จะทำให้เราทุกคนกลายเป็น Change Maker ที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ ในแบบของเราเอง